วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ปัญหาและสิ่งที่เกิดขึ้นในการซื้อ-ขายน้ำมันพืชเก่า


         จริงๆแล้วผู้เขียนไม่บังอาจที่จะตั้งตัวเป็นกูรู ด้านการซื้อ-ขายน้ำมันพืชเก่า นะครับ เพียงแต่ว่า ผู้เขียนได้นำประสบการณ์ที่เคยเจอ  และเกิดขึ้นมาบอกเล่าสู่กันฟังมากกว่า  สำหรับผู้ที่สนใจ หรือแม้กระทั่งคนที่เคยทำอาชีพนี้กันมาบ้างแล้ว ก็คงเคยเจอมาบ้างเหมืิอนกัน   

            ซึ่งส่วนใหญ่แล้วปัญหาที่มักพบบ่อยมีอยู่ 2 หัวข้อใหญ่ๆด้วยกันครับ คือ (ผมจะพูดในกรณีผู้ซื้อนะครับ)

1.  ปัญหาด้านราคา  ซึ่งก็แบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้แก่
             1.1  ช่วงราคาขึ้น เป็นช่วงที่มีการซื้อง่าย ขายคล่อง และมักมีการแข่งขันกันด้านราคาสูงมาก พูดง่ายๆ คือแข่งกันให้ราคา จนบางครั้้งราคามักจะสูงเกินความเป็นจริง  แทบจะไม่มีกำไรกันเลย ตอนนี้คนที่มีอำนาจต่อรอง คือผู้ขาย คำพูดที่เจอบ่อยคือ ซื้อราคาแค่นี้เองหรือ คนนั้นเค้าซื้อตั้ง เท่านั้น เท่านี้
พอได้ฟังอย่างนี้แล้ว ผู้ซื้อก็บ้าจี้เหมือนกันนะครับ ไม่ได้..ราคาเราต่ำกว่าเขาไม่ได้ เป็นไงเป็นกัน ขอให้ได้ของเป็นพอ ขาดทุนไม่กลัวอยู่แล้ว (นี่ไม่ได้พูดประชดนะครับ มันเป็นจริงๆ)
             1.2  ช่วงราคาลง เป็นช่วงที่ขายยาก ซื้อก็ยากด้วย เนื่องจากว่า  ตอนราคาลงทางโรงงานเองก็มีน้ำมันพืชเก่ามากอยู่แล้ว จนจะเต็มที่เก็บ  ส่วนคนขาย( พ่อค้าคนกลาง หรือผู้รับซื้อรายย่อย )  ก็ต้องรีบขายออก เพราะกลัวขาดทุนมาก คนที่ขายไม่ทันก็ขาดทุนกันไป เผลอๆ ทางโรงงานไม่อยากรับซื้อด้วยซ้ำ เพราะราคากำลังปรับลดลงก็ไม่อยากซื้อแพง ไว้ซื้อตอนราคาลดลงแล้วดีกว่า ยกเว้นขาประจำกันจริง ๆโรงงานถึงจะรับซื้อไว้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือกันในยามยาก 
                    ส่วนพ่อค้า แม่ค้า ตามท้องตลาด พอราคาลดลงหน่อยก็เริ่มไม่อยากจะขาย เพราะคิดว่า เคยได้ราคาดีแล้วพอราคาลดลงก็รับไม่ได้ (เสียดาย ) แต่ก็มีส่วนน้อยนะครับ ซึ่งส่วนใหญ่ คนค้าขายเขาเข้าใจภาวะตลาดดี เพราะของก็ต้องมีขึ้น-มีลง เป็นธรรมดา 

                    " พูดกันตรงๆ ในฐานะ คนซื้อน้ำมันพืชเก่า ถ้าราคาไม่ลดลงจริง ๆ ไม่มีผู้ซื้อรายไหนหรอกครับ ที่จะไปลดราคาลงมาเอง เพราะเค้าก็กลัวถูกแย่งลูกค้าเหมือนกัน มันก็อยู่กับภาวะตลาด เพราะเราไม่ได้ซื้ออยู่คนเดียว คนอื่นๆ เขาก็ซื้อเหมือนกัน ถ้าเราลง คนอื่นไม่ลงเราก็เสียซิ   เมื่อราคาลดลงคนอื่นก็ต้องลดตามกัน  เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลข่าวสารของใครไวกว่ากัน  คนที่ลงไวก็ขาดทุนน้อยหน่อย  ส่วนคนที่ยังไม่รู้เรื่องก็ขาดทุนเยอะหน่อยเท่านั้นเอง "

                    ถ้าจะมองแล้วก็ดีอีกแบบนึง ไม่ใช่เป็นข้อเสียเลยทีเดียว ที่พ่อค้า แม่ค้า ตามท้องตลาดยังไม่ยอมขาย น้ำมันพืชเก่า เขาจะได้ช่วยเก็บไว้ให้เรา ไว้ราคาขึ้นเราค่อยมาซื้อทีเดียว ได้ของเยอะดี อีกอย่างนึง เราไม่ต้องลงทุนเลย ไม่เสี่ยงด้วย 
                   และที่ดีที่สุดคือ การช่วยกันเก็บไว้ ปริมาณสินค้าก็เข้าโรงงานน้อยลง ทำให้โรงงานได้ระบายสินค้าคงคลังออก พอสินค้าเริ่มลดลง โรงงานก็ขายได้ราคาดี โรงงานก็จะเปิดรับซื้อราคาดีขึ้นมาเอง เป็นไปตามกลไกลตลาดเป๊ะเลย..แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านนะครับ นอกจากดีมานด์และซับพลายแล้ว ยังมีปัจจัยด้านการแทรกแซงอื่นอีก ซึ่งก็ต้องอาศัยการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง
                     สรุปแล้วคือ ผู้ขาย พ่อค้า แม่ค้า ก็มีสิทธิเลือกอยู่ดีครับ ว่าจะทำอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนครับ

2.  ปัญหาด้านระยะทางหรือการขนส่ง  

                     ซึ่งในส่วนนี้เป็นปัญหาอย่างมากเลยครับ ของจังหวัดที่ห่างไกล เช่น ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือ จะมีปัญหาด้านการขนส่งมากโดยเฉพาะช่วงราคาลดลง เนื่องจากว่าเวลาเราวิ่งรถไปเก็บในจังหวัดไกล ๆ กว่าเราจะไปเก็บน้ำมันพืชเก่ากลับมา กว่าจะส่งเข้าโรงงาน ราคาก็ลงเรื่อย ๆ 
                      สรุปคือขาดทุนแน่นอน เพราะผู้ซื้อได้กำไรน้อยมาก เนื่องจากการแข่งขันกันเองของผู้ซื้อรายย่อย พอราคาลงนิดเดียว หักค่าขนส่งแล้วไม่เหลือกำไรเลย  เพราะฉะนั้นผู้ซื้อควรคำนึงถึงจุดนี้ด้วย ในการเปิดราคารับซื้อ 
                      แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง พ่อค้า แม่ค้า และผู้รับซื้อน้ำมันพืชเก่า ต่างก็ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน   ผู้ซื้อเองก็ต้องมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการไปรับซื้อและไปส่ง ส่วนผู้ขายเองก็ไม่ต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่าย ในการนำสินค้าไปส่งถึงโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อค้า แม่ค้า รายย่อยที่มีน้ำมันพืชเก่าไม่เยอะ  คงไม่คุ้มแน่ที่จะนำไปขายเองถึงกรุงเทพฯ 
                       ดังนั้นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย  ถ้ามีความเข้าใจ ซึ่งกันและกัน ก็ถือว่าฝากสินค้าไปขาย เสียค่าบริการนิดหน่อย พอให้ผู้ซื้ออยู่ได้ สมดั่งสโลแกน " ผู้ซื้อก็ได้กำไร คนขายก็ได้ราคา " ปัญหาก็ไม่เกิดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น